ทันตะร่วมศูนย์ตะวันฉายจัดอบรม “เพิ่มพัฒนาศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของศูนย์ตะวันฉาย”ด้วยวิธี Zoom Webinars ระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2564

97 ครั้ง

ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า คณะทันตแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ตะวันฉาย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรม “การเพิ่มพัฒนาศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของศูนย์ตะวันฉาย” โดยมี รศ.พญ.วิมลรัตน์ ศรีราช รองคณบดีฝ่ายวิจัย และวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.ทพ.ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดโครงการอบรม ซึ่งกล่าวรายงานโดย รศ.ทพ.ดร.พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉาย และศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 100 คน

รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า และศูนย์ตะวันฉาย กล่าวว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ได้ดำเนินการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยทีมสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานตีพิมพ์ในระดับชาติและระดับนานาชาติมากกว่า 270 ผลงาน ซึ่งอยู่ในฐาน Scopus มากที่สุดในเอเชีย รวมทั้งได้สร้างสรรค์นวัตกรรมประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งในนามของผู้อำนวยการศูนย์ได้ขอบพระคุณคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยฯ ทั้งในด้านบุคลากร และเงินทุน โดยตั้งแต่ปี 2552-2563 ศูนย์ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 25,596,720 บาท (ยี่สิบห้าล้านห้าแสนเก้าหมื่นหกพันเจ็ดร้อยยี่สิบบาท) จากความร่วมมืออย่างดียิ่งของสองคณะหลัก ในการทำงานของทีมศูนย์ตะวันฉาย ที่ได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วย พัฒนาวิชาการ การวิจัยจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนมีผู้สนใจขอเข้าศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ทพ.ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ กล่าวว่า “ปี 2558-2563 คณะทันตแพทยศาสตร์มีผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ถึง 31 ผลงาน และยังมีนวัตกรรมอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device นำโดย รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก คณะทันตแพทยศาสตร์ ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา คณะแพทยศาสตร์ รศ.ดร.สุรสิทธิ์ ปิยะศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ 2562 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรางวัลเหรียญเงิน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ จากผลงานประกวด 800 ชิ้น กว่า 40 ประเทศ ซึ่งการได้รับรางวัลต่างๆ นี้ เป็นการรับประกันถึงความยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น”

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ นักวิจัยและนักศึกษาหลังปริญญาได้รับความรู้ พัฒนาทักษะด้านการเขียนโครงร่างวิจัย บทความวิจัย และการตีพิมพ์วารสารระดับชาติและนานาชาติที่มีคุณภาพ และส่งเสริมให้นักวิจัยได้แนวคิดและโครงร่างของการสร้างนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต