เครื่องแรกของโลก – มข.เปิดตัว อุปกรณ์เก็บกักละออง ลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน ได้ 99.99% (มีคลิป) : แหล่งข่าวขอนแก่นลิงก์

88 ครั้ง
news2020_Facebook1

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแกน หรือ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดี มข.ฝ่ายนวัตรกรรมและวิสาหกิจ, ศ.ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ รศ.ดร.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มข. ร่วมลงนามในสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเปิดตัวผลงานนวัตกรรม อุปกรณ์เก็บกักละออง เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากนักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ มข. เครื่องแรกของโลกที่ถูกนำมาใช้ในการปฎิบัติงานในกลุ่มทันตกรรมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ คณาจารย์ ผู้แทนภาคเอกชน และสื่อมวลชนอย่างมาก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. กล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมงานนักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ขณะนี้ได้ถูกนำมาใช้งานในกลุ่มทันตกรรมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการลดความเสี่ยงให้กับทีมแพทย์และพยาบาล รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้านทันตกรรมได้อย่างมาก เพราะมีโอกาสเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อระหว่างการทำหัตถการ โดยที่จุดเด่นของอุปกรณ์เก็บกักละอองชนิดนี้นั้นลดการสัมผัสละอองที่ฟุ้งกระจายในขณะปฎิบัติงานได้ถึง 99.99% ด้วยการที่เครื่องสามารถใช้ครอบเฉพาะส่วนจมูกและปากของคนไข้ โดยที่ส่วนหูของคนไข้จะไม่อยู่ในกล่องจึงไม่เกิดเสียงก้องหรือรบกวนคนไข้ขณะทำหัตถการ ขณะที่วัสดุที่ใช้ในส่วนของปลอกแขนและฐานรองนั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวกันกับหน้ากากอนามัย SMS FABIC ที่มีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่านและอากาศไหลผ่านได้ดี ซึ่งทีมนักวิจัยได้มีการทดสอบการไหลของอากาศภายในเครื่องแล้วพบว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถทำให้มีอากาศใหม่ที่เข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจในขณะทำหัตถการ และผลการทดสอบยังคงระบุอีกว่าอุปกรณ์ชนิดนี้ไม่ตรวจพบแรงต้านการหายใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกแม้จะนอนทำฟันอยู่เป็นเวลานานก็จะไม่มีอาการเหนื่อยแต่อย่างใด

ขณะที่ รศ.ดร.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มข.กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ให้ผู้ปฎิบัติงานได้ทำการฆ่าเชื้อโดยการพ่นหมอกน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยต่อเครื่องอุปกรณ์ตัวนี้เข้าไปกับกล่องเก็บกักละอองในบริเวณตำแหน่งเดียวกันกับที่ต่อเครื่องดูดอากาศ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าตัวน้ำยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้มากกว่า 99.99% หลังจากนั้นก็จะฉีดพ่นทิชชู่เปียกที่อาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรมทำความสะอาดอีกหนึ่งรอบก็จะสามารถฆ่าเชื้อได้ 100% ซึ่งจะช่วยให้การทำงานชองทันตแพทย์และผู้ช่วยฯปลอดภัยและไม่ได้รับการติดเชื้อจากการปฎิบัติหน้าที่ด้านทันตกรรม

“สำหรับส่วนประกอบของอุปกรณ์เก็บกักละอองดังกล่าวจะประกอบด้วยกล่องเก็บกักละอองหลัก 1 ชิ้น ชุดถุงคลุมแขนและแผ่นผ้า สำหรับทันตแพทย์และผู้ช่วย โดยจะมีน้ำหนักประมาณ 7.5 กก. เชื่อมต่อกับอุปกรณ์มาตรฐานทางทันตกรรม โดยเมื่อผู้ป่วยนั่งลงที่เก้าอี้ทำฟันตามปกติและปรับเอนอนในตำแหน่งที่จะทำหัตถการแล้ว ผู้ช่วยฯจะทำการคลุมผ้าช่องที่เจาะบริเวณช่องปากและจมูก และนำอุปกรณ์ดังกล่าวที่มีลักษณะคล้ายกล่อง มาทำการคลุมช่องปาก และทำการเปิดระบบหมุนเวียนอากาศ และเชื่อมต่ออุปกรณ์การทำฟันตามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นท่ออากาศ ท่อน้ำ โดยในช่วงที่ทำหัตถการ ระบบดูดอากาศและหมุนเวียนอากาศจะดูดละอองต่างๆจากการทำหัตถการไปตามท่อและลงไปอยู่ในถุงขยะติดเชื้อ และกล่องกักละออง และเมื่อการทำหัตถกาแล้วเสร็จเจ้าหน้าที่สามารุที่จะนำอุปกรณ์เครื่องมือทันตกรรม ไปทำความสะอาดตามกระบวนการปราศจากเชื้อ ขณะที่ถุงคลุมแขน ถุงมือ และแผ่นผืนคลุมช่องปากผู้ป่วยก็จะถูกทิ้งไปในกลุ่มขยะติดเชื้อ ขณะที่ตัวกล่องก็จะถูกทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อตามทหลักกรรมวิธีต่อไป อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกจดสิทธิบัตรแล้วและ มข.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การให้บริการด้านทันตกรรมที่ครอบคลุมต่อไป”