คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมงาน สีฐานเฟสติวัล “บุญสมมาบูชานาค” ประจำปี 2565 (Sithan KKU Festival 2022) ภายใต้แนวคิด “ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม” หวังสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และ ระดับนานาชาติ โดยงานจัดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ณ ริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2565 จัดภายใต้แนวคิดหลัก คือ ศรัทธา เริ่มต้นในช่วงเช้า มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป และอัญเชิญพระอุปคุต ทางคณะได้มีการจัดตั้งโรงทานคณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อแจกจ่ายอาหาร และเครื่องดื่มแก่ผู้เข้าร่วมงาน และในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คณะได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมแนวคิดหลัก “ปลุกวิถีวัฒนธรรม” ซึ่ง รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ เข้าร่วมขบวนแห่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พิธีสักการะ พระบรมสารีริกธาตุและพิธีสักการะพญานาค 15 ตระกูล พร้อมจัดส่งตัวแทนคณะเข้าร่วมประกวดนางนพมาศ และนอกจากนั้นได้จัดทำกระทงเข้าร่วมประกวด ประเภทกระทงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 ฟุต แบบสวยงาม โดยมีแนวความ คิดที่ว่า “กระทงประดิษฐ์ด้วยใบตอง ประดับไปด้วยพญานาค ประกอบด้วยเครื่องบูชา ธูปเทียน หมากพลูอันเป็นเครื่องสักการะต่อพระแม่คงคาเทวดาอารักษ์ผู้ปกปักรักษาแม่น้ำลำธาร แสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ดอกไม้และธูปเทียน เป็นเครื่องน้อม
สักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรด ในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที พญานาคแกะสลักในกระทง น้อมรำลึกถึงพญานาคผู้บันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และให้กำเนิดแหล่งน้ำ ดังเช่นในป่าหิมพานต์ พญานาคใช้พลังวิเศษทำให้เกิดฝนตกไหลรวมกันเป็นสระอโนดาต อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญทั้ง 5 สายของโลก หรือ ปัญจมหานที หากเปรียบยอดกระทงเป็นเขาพระสุเมรุ พญานาคในกระทงเปรียบเสมือนสัตว์วิเศษที่อยู่รายล้อมจักรวาลทั้ง 4 ทิศ พร้อมทั้งเทือกเขาสัตตบริภัณ์ทั้ง 7 เช่นในประติมากรรมลอยน้ำใจกลางบึงสีฐาน นอกจากนี้การลอยกระทงตามความเชื่อโบราณเป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยความทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง” จัดตกแต่งอย่างปราณีต งดงาม และผลปรากฏว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ คว้ารางวัล “ชนะเลิศ” มาครอง
คณะทันตแพทยศาสตร์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบทอดประเพณีไทยโบราณ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต