ทันตแพทย์..ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมอีสาน “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส” ประจำปี 2566

30,418 ครั้ง

วันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมสืบสานงานบุญประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ในงาน “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส” ประจำปี 2566 ณ บริเวณคุ้มศิลปวัฒนธรรม (ริมบึงสีฐาน) ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีทั้งผู้บริหาร บุคลากร นักเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน

โดยในปีนี้ทางคณะ ได้ส่งขบวนแห่เข้าประกวดโดยใช้ชื่อขบวนแห่ ว่า “ย้อนรอย ‘มาลานำไทย’ ” โดยมีแนวคิดรูปแบบการแต่งกาย “การปรับตัวตามเทรนด์อาจจะไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น หากแต่ในยุคหนึ่งหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งเอกราชของประเทศ” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาดำรงตำแหน่งในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ซึ่งมีนโยบายที่สำคัญที่แถลงต่อประชาชนคือ การนำไทยเข้าสู่ความเป็นอารยะประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทยยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมขนานใหญ่ คนไทยซึ่งเคยอยู่อย่างสบายๆ เรียบ ๆ มาก่อนก็ถูกกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงบุคลิกใหม่กันอย่างปัจจุบันทันด่วน ขั้นแรกที่สุดรัฐบาลได้ปลุกระดมความรู้สึกของประชาชนให้เข้าสู่ภาวะสังคมใหม่ คือการเปลี่ยนชื่อประเทศ จากสยามมาเป็นไทย แล้วก็มีกระบวนการสร้างชาติอย่างสายฟ้าแลบ รัฐบาลออกประกาศ “รัฐนิยม” เรื่องต่าง ๆ ออกมา ตั้งแต่ฉบับแรกเรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชนแลสัญชาติ ในปี พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2485 รวมเป็นรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ รวมมีเรื่องการแต่งกายของชาวไทยด้วยในรัฐนิยมฉบับที่ 10 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484 เรื่อง “เครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย” สรุปความรวมกับประกาศอื่น ๆ ที่ออกในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นอีกหลายฉบับ รวมความได้ว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พยายามสร้างความพร้อมเพรียง และความเป็นระเบียบในการแต่งกาย ของคนในชาติด้วยความพยายามอย่างยิ่ง มีการกำหนดเครื่องแต่งกายออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. เครื่องแต่งกายธรรมดา คือที่ใช้ในชุมชน สาธารณชน
2. เครื่องแต่งกายทำงาน คือแต่งเมื่อประกอบการงานอาชีพโดยปกติ
3. เครื่องแต่งกายตามโอกาส ได้แก่แต่งในกาลเทศะที่เหมาะสม เช่น เล่นกีฬาหรือเข้าสังคม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงมีการแต่งกายตามแบบรัฐนิยม มาลานำไทย ร่วมในขบวนประเพณีสงกรานต์มหาวิทยาลัยขอนแก่นประจำปี 2566
สำหรับขบวนแห่ของคณะทันตแพทยศาสตร์ ประกอบด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร และกลุ่มของนักเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นขบวนแห่ที่มีความหลากหลายในกลุ่มคนแต่มีการสอดประสานความสมัครสมานสามัคคีกันอย่างลงตัว จนคว้ารางวัลชมเชยมาครอง.. และกำหนดการจัดพิธีสงกรานต์รดน้ำขอพรผู้อาวุโสของคณะอีกครั้งในวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น