คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการก่อตั้งคณะ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยมีพิธีเบิกเนตรพระพุทธรูปประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยพระครูปริยัติธรรมานุศาสตร์ พระมหาจำนง ญาณธมฺโม รองเจ้าอาวาสวัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่น ประธานสงฆ์เป็นผู้นำประกอบพิธี หลังจากนั้นมีพิธีทำบุญตักบาตรรพระสงฆ์จำนวน 9 รูป ถวายภัตตาหารเช้า ถวายจัตุปัจจัยไทยธรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่อดีตคณบดี และบุคลากรผู้ล่วงลับไปแล้ว พิธีวางพวงมาลัยรูปหล่อ ศ.เกียรติคุณ ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์ อดีตคณบดีผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ เริ่มจาก รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ โดยตัวแทนจากกลุ่มบุคลากรสายผู้สอน และบุคลากรสายสนับสนุน และมอบโล่บุคลากร ที่ปฏิบัติราชการอย่างน้อย 30 ปี จัดขึ้น ณ ห้องโถง โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีกลุ่มผู้บริหารและตัวแทนผู้บริหารแต่ละคณะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางมามอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดี และบุคลากรเข้าร่วมงานกว่า 300 คน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2522 ถือเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งที่สี่ของประเทศโดยมีวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ด้านทันตแพทยศาสตร์และทันตสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐานวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อสร้างเสริม ป้องกัน และบำบัดโรคในช่องปากแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและบริการวิชาการทางทันตแพทยศาสตร์ มีการบริหารจัดการ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ มีบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข โดยไม่ลืมที่จะสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอีกด้วย 4 ทศวรรษแห่งความภาคภูมิใจ กับการรับใช้สังคม ทางคณะฯ ได้พัฒนาศักยภาพขององค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีค่านิยม องค์กร DENT KKU ในการปฏิบัติงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ อันประกอบไปด้วยD = Devotion การอุทิศตนเพื่อสังคม และผู้ด้อยโอกาส คณะฯ มีปณิธานในการทำงานรับใช้สังคมและผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หน่วยทันตกรรมพระราชทานเคลื่อนที่ออกให้บริการทางทันตกรรมโดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทุน “ทุนเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สมเด็จย่า” ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราขสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ขาดแคลน กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิจกรรมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพหรือทันตกรรมโรงเรียน รายการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผ่านรายการวิทยุ “ฟันดีมีสุข คุยสนุกกับหมอฟัน โครงการยิ้มสดใส ใจอิ่มบุญเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ กิจกรรมจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และโรงเรียนมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ E = Expertise การผลิตทันตบุคลากรที่มีความชำนาญในวิชาชีพทางทันตกรรมชั้นสูง คณะฯ มีการผลิตทันตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง บัณฑิตทันตแพทย์ และบุคลากรสายผู้สอนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และเป็นกำลังสำคัญขององค์กร ได้แก่ นักเรียนรางวัลพระราชทาน ทุนพระราชทานอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์ รางวัลบัณฑิตทันตแพทย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย และ รางวัลเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นแห่งประเทศไทยN = Network การมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและนอกประเทศ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเป็นสากล โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศมากมาย ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ทั้งในด้านวิชาการ วิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรจากต่างประเทศ ทั้งจาก สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งยังมีการจัดการฝึกอบรมและประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและวิจัยให้เท่าเทียมกับนานาประเทศ อันได้แก่1.การประชุมวิชาการ Clinical, Public Health & Behavioral Oral Health Research Training for Thailand 2.การประชุมวิชาการ International Symposium on Human Resource Development และ3. การประชุมวิชาการ International Conference T = Teamwork การทำงานเป็นทีมโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีการรวบรวมองค์ความรู้ของแต่ละสาขาวิชา ส่งเสริมให้เกิดวิทยาการสมัยใหม่ทางทันตกรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มงานด้านมะเร็งช่องปาก ด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ ด้านการแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ให้เอื้อต่อความต้องการของสังคมและประเทศชาติอีกด้วย อันได้แก่ 1.ทีมงานด้านมะเร็งช่องปาก โดยความร่วมมือระหว่าง สหสาขาวิชาทั้ง 4 สาขา ได้แก่ หน่วยทันตพยาธิวิทยา แขนงวินิจฉัยโรคช่องปาก สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล หน่วยMaxillofacial prosthesis สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ 2.ทีมงานด้านผู้สูงอายุ หลักการทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นองค์รวม 3.ทีมงานด้านการแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ การบริการ ศึกษาวิจัย และสาธิตรูปแบบของการบริการ ในลักษณะขององค์รวมแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary treatment) 4. ทีมงานด้านทันตกรรมรากเทียม เป็นความร่วมมือในหลายสาขาวิชา เพื่อให้ได้ทั้งความสวยงามและการทำหน้าที่ของรากเทียมและฟันเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดK = Knowledge การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และการวิจัยชั้นนำ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีความก้าวหน้าทั้งในแง่ความรู้ทางวิชาการวิจัย ร่วมไปกับการปฏิบัติงานรักษาในคลินิก อันได้แก่ 1.กลุ่มวิจัยเลเซอร์วิทยาทางทันตแพทยศาสตร์(Lasers in Dentistry Research Group: LDRG) 2.กลุ่มวิจัยไบโอฟิล์ม (Biofilm Research Group) 3.กลุ่มวิจัยโรคอักเสบเรื้อรังของช่องปากและโรคทางระบบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก (Research group of chronic inflammatory oral diseases and systemic diseases associated with oral health) และ4.กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience Research and Development Group)K = Kindness การมีเมตตาต่อผู้อื่น ปลูกฝังให้บุคลากรทุกภาคส่วนมีจิตใจเมตตาต่อผู้อื่น รวมถึงการบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังเห็นได้จากกิจกรรมกุศลต่างๆที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น งานฟันดีมีสุข การออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ งานวันทันตสาธารณสุข เป็นต้นU = Unity การมีความเป็นเอกภาพ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและความสุขในองค์กร โครงการ DT HAPPY WORKPLACE แบ่งออกเป็น 8 หลัก คือ Happy Society, Happy Family, Happy Heart, Happy Soul, Happy Money, Happy Body, Happy Brain และ Happy Relax นอกจากนี้ คณะฯ ยังให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุง ส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของอีสานความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ นับเป็นคณะฯ ที่มิได้พัฒนาด้านการศึกษาแต่เพียงด้านเดียว หากแต่ยังยึดมั่นในพันธกิจอันเป็นปณิธานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสืบ สมดังปณิธานของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะพัฒนาคุณภาพของบัณฑิต ส่งเสริมงานวิชาการและวิจัยในวงการวิชาชีพทันตกรรมและสนับสนุนการศึกษาอย่างยั่งยืนของทันตแพทย์ต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแหล่งความรู้ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อย่างแท้จริง