ทันตะร่วมสืบสานประเพณีไทยสงกรานต์

426 ครั้ง

         คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมสืบสานประเพณีไทยสงกรานต์ ประจำปี2560 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 ณ ห้องโถง ชั้น 1 โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ พร้อมร่วมงาน “บุญเดือนห้า แห่พระพุทธบูชา สมมาอาวุโส” ผลปรากฏว่าคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัลชมเชย ขบวนแห่ และการก่อเจดีย์ทราย (ตบประทาย) ในครั้งนี้

       โดยภายในงานช่วงเช้า ทางคณะจัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป  พิธีรดน้ำพระพุทธรูปประจำคณะ พร้อมกับการรดน้ำดำหัวอาจารย์อาวุโส  ช่วงบ่ายทางคณะ ได้จัดขบวนแห่พระพุทธรูปประจำคณะ นางสังขาร และทีมก่อเจดีย์ทราย (ตบประทาย) เพื่อร่วมงานบุญเดือนห้า แห่พระพุทธบูชา สมมาอาวุโส พร้อมเข้าร่วมประกวด โดยเริ่มตั้งขบวนแห่ ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก เคลื่อนขบวนไปยัง  อาคารพุทธศิลป์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สรงน้ำพระพุทธรูป สักการะพระบรมสารีริกธาตุ  สรงน้ำหลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. และตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สุดท้ายรดน้ำขอพรผู้อาวุโสประจำมหาวิทยาลัย
        รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะขุมปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมแห่งอีสาน  มีแนวนโยบายอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีไทยแบบดั้งเดิม ภายใต้แนวคิด ไม่หลงของเก่าไม่เมาของใหม่  โดยเฉพาะการพลิกหน้าประวัติศาสตร์สร้างภาพลักษณ์งานสงกรานต์ภายในมหาวิทยาลัยจากงานรื่นเริงที่เน้นย้ำความสนุกสนาน  กลายเป็นประเพณีที่เน้นความสงบ ศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา  ภายใต้ชื่องาน บุญเดือนห้า แห่พระพุทธบูชา สมมาอาวุโส ตามแนวยุทธศาสตร์ที่ ๓ Culture and Care Community เป็นองค์กรที่มีความห่วงใยและดูแลชุมชน รวมทั้งส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม
         รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ  รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ กล่าวว่า  การจัดงานบุญเดือนห้า แห่พระพุทธบูชา สมมาอาวุโส ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยให้สืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ โดยที่เยาวชนไม่หลงประเด็นว่างานสงกรานต์คือเทศกาลรื่นเริงและใช้น้ำจำนวนมาก หัวใจหลักของประเพณีสงกรานต์คือความสงบ ศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา  ผ่านกิจกรรมทำบุญตักบาตร  ก่อพระเจดีย์ทราย (ก่อประทาย)    สรงน้ำพระพุทธรูปประจำหมู่บ้านและพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  และรดน้ำดำหัวสมมาอาวุโส  เพื่อแสดงความเคารพกตัญญูและเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ซึ่งเป็นการร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงสร้างความเข้มแข็งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยได้อีกทางหนึ่ง