ทันตแพทย์เป็นเจ้าภาพจัดพิธีเปิดโครงการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีการศึกษา 2564

144 ครั้ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดโครงการฝึกภาคสนามร่วม ปีการศึกษา 2564 โดยมี ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร อาจารย์จากแขนงวิชาทันตสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมในครั้งนี้ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 30พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2564 โดยมีนักศึกษาในกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าร่วมโครงการกว่า 815 คน

โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีการจัดพิธีเปิดโครงการภาคสนามร่วม ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ชุมชนบ้านคู ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมทำความรู้จัก และกิจกรรมตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพชิงรางวัลอีกด้วย

ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร

          ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2564 กล่าวว่า “การฝึกภาคสนามร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 39 โดยลักษณะปฏิบัติการเป็นแบบกระบวนการเรียนรู้ และเนื้อหาในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกัน โดยฝึกปฏิบัติการร่วมกันในคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพต่างๆ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 12 พื้นที่จาก 4 อำเภอ 1.อำเภอน้ำพอง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลกุดน้ำใส, บ้านคำแก่นคูณ, บ้านม่วงหวาน, บ้านขาม 2.อำเภอซำสูง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลคูคำ, บ้านโนน 3.อำเภอบ้านฝาง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลหนองบัว, บ้านแก่นท่า, บ้านป่านาว และ 4.อำเภอบ้านแฮด ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลโนนสมบูรณ์, บ้านโคกสำราญ, บ้านหนองแซง จังหวัดขอนแก่น  สำหรับรายละเอียดของรูปแบบการฝึกในปีนี้ มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ Covid-19 คาดว่าโรคระบาดยังมีอยู่ตลอดปี 2564 การจัดการต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้เกี่ยวข้องเป็นหลัก และการจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฏีทั้งหมดเป็นออนไลน์ การฝึกปฏิบัติการในพื้นที่ยังคงมีอยู่ แต่ปรับเปลี่ยน นักศึกษาและอาจารย์ปฏิบัติงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ จะไม่มีการพักค้างคืนในพื้นที่”          

การฝึกภาคสนามร่วมนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีของการเรียนรู้ร่วมกันของสหสาขาวิชาและเกิดขึ้นในชุมชนอย่างแท้จริง โดยวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง เพื่อให้นักศึกษาสาขาวิชาดังกล่าว ได้รู้จักการทำงานร่วมกัน โดยการเรียนรู้จากชุมชนจริงและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์ในการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่ศึกษา ตลอดถึงการวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน การปรับตัว และเข้าใจในวิถีชีวิตชุมชนชนบท มีความเข้าใจ ความรู้ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตลอดจนเสนอแผนการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนได้ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับทั้งหมดไปต่อยอดในการพัฒนาการวิชาชีพต่อไปในอนาคต