ทันตะ มข.ร่วมกับ University of Health Sciences ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดโครงการความช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยระบบออนไลน์

75 ครั้ง

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ University of Health Sciences ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดโครงการ “ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียน” โดยระบบออนไลน์ วิทยากรโดย รศ.ดร.ทพญ. แสงโสม ประจะเนย์ และ ผศ.ทพญ. วราภรณ์ สุวรรณรงค์ อาจารย์จากแขนงวิชาปริทันตวิทยา สาชาวิชาชีวเวชศาสตร์ช่องปาก  และ ศ.ดร.ทพญ.ศจี สัตยุตม์ สาขาศัลยศสาตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ผ่านระบบ zoom คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการอบรมในครั้งนี้มีนักศึกษาปริญญาโทสาขาปริทันตวิทยา พร้อมทีมคณาจารย์ จาก Faculty of Dentistry, University of Health Sciences, Vientiane,  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และคณาจารย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กว่า 30 คน เข้าร่วมการโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้

รศ.ดร.ทพญ. แสงโสม ประจะเนย์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียน ในปีงบประมาณ 2564 นี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากที่ได้ดำเนินการแล้วในปีงบประมาณ 2563 สืบเนื่องมาจากการที่ในปี 2558 แขนงวิชาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการติดต่อจาก University of Health Sciences ให้เป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนบรรยาย แก่นักศึกษาปริญญาโทสาขาปริทันตวิทยา จำนวน 10 คน ทางแขนงวิชาฯ ได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ในระยะแรกโดยได้เดินทางไปช่วยสอนบรรยาย นำเสนอแผนการรักษาผู้ป่วยโรคปริทันต์และให้นักศึกษาปริญญาโทจาก University of Health Sciences เดินทางมาเข้าร่วมฟังบรรยาย ฟังการนำเสนอแผนการรักษาผู้ป่วยโรคปริทันต์ของนักศึกษาปริญญาโท แขนงวิชาปริทันตวิทยาที่คณะฯ สำหรับปีนี้แขนงวิชาฯ ได้มีการปรับกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาด COVID -19 จึงจัดให้มีการบรรยายในการทำศัลยกรรมปริทันต์ขั้นพื้นฐานและศัลยกรรมตกแต่งปริทันต์ร่วมกับการฝึกปฏิบัติการในแลปหัวหมู (Hands-on in pig-jaw lab) โดยวิธีออนไลน์ ผ่านระบบ zoom และมีแผนการจัดบรรยายต่อเนื่องในการทำศัลยกรรมปริทันต์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง รวมถึงศัลยกรรมตกแต่งปริทันต์ ร่วมกับการฝึกปฏิบัติการในแลปหัวหมู รวมถึงขยายพื้นที่ความช่วยเหลือทางวิชาการไปยังประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียนตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรอีกด้วย” รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ กล่าวเปิดโครงการฯ ว่า “ทางคณะฯ ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ และการศึกษาต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น การศึกษาด้วยตัวเองจากระบบสารสนเทศ การเข้าร่วมฟังบรรยายทางวิชาการ หรือการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึง การฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น การบรรยายทางวิชาการ ผ่านระบบ zoom เรื่องการรักษาทางปริทันต์ด้วยวิธีศัลยกรรม (Surgical approach for periodontal therapy) และ การรักษาทางปริทันต์ด้วยวิธีศัลยกรรมตกแต่งปริทันต์ (Periodontal plastic surgery for periodontal therapy) รวมถึง การฝึกปฏิบัติการในแลปหัวหมู ซึ่งทางคณะฯ จัดขึ้น เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ให้กับนักศึกษานอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนตามปกติด้วย”

ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการต่อยอดการพัฒนาด้านศัลยกรรมปริทันต์ให้เกิดการพัฒนาและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ในอนาคต