แขนงวิชาทันตสาธารณสุข (เดิมคือภาควิชาทันตกรรมชุมชน) ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นใน พ.ศ. 2523 ด้วยวัตถุประสงค์ของหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตที่มุ่งให้บัณฑิตทันตแพทย์มีคุณลักษณะครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ ด้านรักษาพยาบาล ด้านฟื้นฟูสุขภาพช่องปาก การส่งเสริมป้องกันโรค ด้านความมีระเบียบวินัยและจริยธรรมในวิชาชีพตลอดจนทัศนคติ มนุษยสัมพันธ์ และจิตสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม แขนงวิชาทันตสาธารณสุข มีบทบาทรับผิดชอบต่อคุณลักษณะของบัณฑิตทันตแพทย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะที่นอกเหนือจากด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับคลินิก ใน พ.ศ. 2527 คณะทันตแพทยศาสตร์มีการปรับหลักสูตร ในส่วนของแขนงวิชาทันตสาธารณสุข ได้มีการปรับโครงสร้างด้วยเช่นกัน และเป็นรากฐานของหลักสูตรทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาจนถึงปัจจุบัน การวางแนวทางหลักสูตรทันตกรรมชุมชน ใน พ.ศ. 2527 ดังกล่าว ขณะนั้นนักศึกษาทันตแพทย์ รุ่นที่ 1 ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 และยังไม่ได้เรียนวิชาทันตกรรมชุมชนมากนัก ในช่วงนั้นคณาจารย์ที่มีอยู่ 3 ท่าน คือ รศ.ดร.ทพ.สุวิทย์ อุดมพาณิชย์ อ.ทพ.ทวีชัย วังศรีมงคล ผศ.ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ได้พิจารณาจากหลักสูตรทันตกรรมชุมชนของหลายๆ สถาบัน ซึ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านวิชาทันตกรรมชุมชนเป็นอย่างมาก และอาจารย์ทั้ง 3 ท่านเห็นด้วยกับหลักสูตรของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ทพ.สุวิทย์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ทพ.สุปรีดา จึงได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอหลักสูตรทันตกรรมชุมชน ซึ่งขณะนั้นมี รศ.ทพญ.อัญชลี ดุษฎีพรรณ์ เป็นหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมชุมชน โดยมี อ.ดร.ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ร่วมให้ความอนุเคราะห์นำมาเป็นแกนหลัก ประกอบกับผลจากการสัมมนาการจัดการเรียนการสอนด้านทันตกรรมชุมชน ใน พ.ศ. 2523 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากปัญหาและข้อคิดของผู้ปฏิบัติงานทันตสาธารณสุขในพื้นที่ และภายใต้บริบทของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคอีสาน จึงนำมาพัฒนาและกำหนดเป็นหลักสูตรทันตกรรมชุมชน ขึ้นต่อมาแขนงวิชาได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2554 โดยมีมหาบัณฑิตสำเร็จการศึกษาจำนวน 17 คน และใน พ.ศ. 2556 คณะทันตแพทยศาสตร์ ให้ยุบรวมหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเหลือเพียงหลักสูตรเดียวคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ โดยให้แยกเป็นสาขาวิชาเอก จำนวน 5 วิชาเอก ดังนั้นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของแขนงวิชาทันตสาธารณสุข จึงเปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกทันตสาธารณสุข เป็นต้นมา นอกจากนี้ แขนงวิชายังมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ช่องปาก และ Doctor of Philosophy Program in Public Health (International Program) โดยหลักสูตรหลังเป็นหลักสูตรร่วมของบัณฑิตวิทยาลัย ปัจจุบันแขนงวิชาทันตสาธารณสุข มีอาจารย์ทั้งสิ้น 9 ท่าน ซึ่งมี รศ.ทพญ.วิลาวัลย์ วีระอาชากุล เป็นหัวหน้าแขนงวิชาทันตสาธารณสุข
ความก้าวหน้า-ความภาคภูมิใจ
- ระดับประชาชนทั่วไป แขนงวิชาทันตสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ช่วยในการผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายมีแนวคิดและนโยบายที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพ เช่น
- การสัมมนาผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชนเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายในโรงเรียนและชุมชนที่เอื้ออำนวยต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก
- การเสนอข้อมูลและแผนงานสุขภาพช่องปากต่อชุมชน เพื่อให้ชุมชนรับทราบปัญหาและสาเหตุของปัญหาสุขภาพช่องปาก ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการกับปัจจัยต่างๆ ในชุมชนที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก
- การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นการกระตุ้นและชี้นำให้ชุมชนเห็นความสำคัญในการดำเนินงานสุขภาพช่องปากในชุมชนด้วยตนเอง
- ระดับมหภาค แขนงวิชาทันตสาธารณสุข ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการดูแลสุขภาพ และด้านทันตแพทยศาสตร์ศึกษา เช่น
- บุคลากรได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายให้กับบุคลากรในหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ
- บุคลากรได้เข้าร่วมประชุมระดับความคิดเห็นและกำหนดเป้าหมายและนโยบายในงานทันตสาธารณสุขและงานสาธารณสุข ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาคและระดับประเทศ
- บุคลากรได้เข้าร่วมเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการต่างๆ ในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนางานทันต-สาธารณสุข เช่น รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ เป็น President of Asian Academy of Preventive Dentistry ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2560 ประธานชมรมทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2558 และในตำแหน่งอื่นๆ เช่น คณะผู้บริหารราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบอนุมัติบัตร สาขาทันตสาธารณสุข ฯลฯ และ อ.ดร.ทพญ.วิไลพร สุตันไชยนนท์ เป็นประธานศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ศ.ป.ท.) เป็นต้น
- ระดับวิชาชีพ แขนงวิชามีงานวิจัยด้านทันตสาธารณสุขหลายชิ้นที่สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเพื่ออ้างอิงและชี้นำสังคมในงานทันตสาธารณสุขได้ โดยมีผลงานตีพิมพ์ปรากฏในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ได้แก่ SCOPUS, ISI และ PUBMED มากกว่า 60 เรื่อง
- การเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมการวิจัยทางคลินิกและทันตสาธารณสุข แขนงวิชาทันตสาธารณสุข นำโดย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ ได้รับทุนสนับสนุนการจัดการฝึกอบรมเรื่อง “Clinical, Public Health, and Behavioral Oral Health Research” จาก Fogarty International Center, National Institutes of Health (NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อเนื่อง ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2561 เป็นจำนวนเงิน 1.87 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการฝึกอบรมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีความสามารถในการทำวิจัยด้านทันตแพทยศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถของคณะทันตแพทยศาสตร์ในการจัดการฝึกอบรมและทำวิจัยในสาขาดังกล่าว ซึ่งการจัดการฝึกอบรมนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งในระดับชาติและนานาชาติเป็นอย่างมาก
นวัตกรรม-ตำรา
ระเบียบวิธีวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์
ผู้แต่ง : รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์